ความกลัว จัดการได้

การจะจัดการกับความกลัวได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่า “ความกลัว” คืออะไร? สิ่งมีชีวิตทุกชนิดจะมีความกลัวไว้เป็นกลไกในการปกป้องตัวเองไม่ให้เกิดอันตราย ไม่ทำหรือให้ออกห่างจากสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติทางชีวภาพที่มากับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตใดที่ไม่มีความกลัว ก็อาจจะเผลอทำในสิ่งที่เป็นอันตรายกับตัวเองซ้ำๆ จนสูญพันธุ์ไปในที่สุด ในเชิงจิตวิทยา ความกลัวเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของอัตตา (ego) ที่มีหน้าที่หลักในการปกป้องกายภาพของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ ให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ฉะนั้นความกลัวไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ไม่ใช่ศัตรูที่บางคนพยายามจะผลักไสออกไป แต่หากเราเข้าใจธรรมชาติของเขา เราก็จะสามารถจัดการและอยู่กับเขาได้อย่างเป็นมิตร

ความกลัวมาจากไหน? ที่มาจริงๆ ของความกลัวคืออดีต เช่นประสบการณ์ต่างๆ ที่เราพบเจอมาแล้วทำให้เรารู้สึกไม่ดีในตอนนั้น อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ เช่น กลัวความมืด กลัวแมงมุม กลัวเข็มฉีดยา กลัวผี กลัวปีศาจ ฯลฯ เพราะคนๆ นั้นอาจจะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับสิ่งเหล่านั้นในอดีต (หรืออดีตชาติ?) ทั้งจากประสบการณ์ตรง การบอกเล่าจากคนอื่น หรือการถูกหล่อหลอมจากสังคม บางคนบอกว่าความกลัวก็มาจากอนาคตได้เหมือนกัน เช่น กลัวไม่มีกิน กลัวอกหัก กลัวเจ็บ กลัวตาย ฯลฯ แต่หากมองให้ดีๆ จะเห็นว่า ความกลัวเหล่านั้นก็เป็นสิ่งที่มีรากเหง้ามาจากอดีตทั้งสิ้น ไม่ว่าจะจากประสบการณ์ตรงหรือฟังมาอีกที เช่น เคยตกงานแล้วไม่มีกินจึงคาดว่าหากตกงานอีกก็คงไม่มีกินอีก เคยโดนไฟฟ้าช๊อตแล้วเจ็บจึงคาดว่าหากโดนช๊อตอีกก็คงจะเจ็บอีก ฯลฯ ซึ่งเป็นการคาดเดาที่มีเหตุผล และเหตุผลเหล่านั้นก็มาจากประสบการณ์ในอดีตทั้งสิ้น โดยเห็นได้จากเด็กที่ไม่เคยมีประสบการณ์เหล่านั้นก็จะไม่รู้ว่าการเอานิ้วไปแหย่รูปลั๊กไฟจะทำให้โดนไฟฟ้าช๊อตแล้วเจ็บ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมองว่าความกลัวมาจากอดีตอย่างเดียวหรือมาจากอนาคตด้วย สิ่งที่เห็นได้ชัดคือความกลัวไม่ได้มาจาก หรืออยู่ในปัจจุบันขณะ หลายคนอาจจะกำลังเถียงกว่า “ไม่จริง” เพราะฉันเนี่ยแหละกำลังกลัวอยู่ตอนนี้เลยว่าพรุ่งนี้จะเอาเงินที่ไหนไปจ่ายค่าเช่า! ซึ่งหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่าเขาไม่ได้กลัวกับสภาวะจริงๆ ในปัจจุบันขณะ แต่กลัวถึง “พรุ่งนี้” ว่าจะเกิดอย่างนั้นอย่างนี้ หรือต่อให้เป็นสถาณการณ์ที่คับขันกว่านั้น เช่น มีเสือกำลังวิ่งเข้ามาทำท่าจะกัดคุณ อัตตาของคุณก็จะกระตุ้นให้เกิดความกลัวที่คุณอาจจะตอบสนองด้วยการวิ่งหนี (ซึ่งคุณก็ควรจะวิ่ง) แต่หากมาพิจารณาจริงๆ ณ ขณะนั้นๆ ที่เสือกำลังวิ่งเข้ามา ที่คุณกลัวคือกลัวว่าในอีกไม่กี่วินาที “ข้างหน้า” คุณอาจจะโดนเสือกัด แต่ ณ ปัจจุบันขณะทุกอย่างยังคงอยู่ดีมีสุขไม่ใช่หรอ? บางคนอาจจะเถียงต่อว่า แล้วถ้าตอนนี้คุณโดนเสือกัดอยู่เลยล่ะ กำลังโดน ณ ปัจจุบันขณะตอนนี้เลย แล้วจะไม่กลัวได้ยังไง? คุณลองเอาเล็บจิกเนื้อตัวเองตอนนี้ดูซิว่ารู้สึกยังไง? ก็เจ็บน่ะซิถามได้ คุณอาจจะตอบแบบนี้ แล้วคุณกลัวมั้ยล่ะ?

การที่คุณกลัวเสือกัดแต่กลับไม่กลัวนิ้วตัวเองจิกเนื้อ ก็เพราะเรารู้ว่าเราจะไม่ทำร้ายตัวเองไปมากกว่านี้ แต่กับเสือ หรือสัตว์หรือคนอื่นๆ เราไม่รู้ว่าเขาจะทำยังไงกับเราต่อ คนส่วนมากจึงคาดเดาไปในทางที่เลวร้ายที่สุดว่าเขาอาจจะทำร้ายเราถึงชีวิตได้ ซึ่งนั่นก็คือการคาดเดา ความกลัวในอนาคตจากประสบการณ์ที่ได้รับหรือได้ยินมาในอดีต ทั้งหมดนี้ผมไม่ได้จะบอกให้คุณไม่ต้องกลัวเสือกัดหรืออันตรายใดๆ ที่อาจจะเข้ามา เพียงแต่ต้องการชี้ให้เห็นว่า ความกลัวไม่เคยอยู่ในปัจจุบันขณะ พระพุทธเจ้า และผู้นำจิตวิญญาณทั้งหลาย ถึงย้ำแล้วย้ำอีกว่าให้เราอยู่ในปัจจุบันขณะ เพราะที่นั้นไม่มีความกลัว เมื่อไม่กลัวก็ไม่ทุกข์ ไม่ทุกข์จิตก็เป็นอิสระ

สิ่งสำคัญที่ตามมาจากการที่เรารู้แล้วว่าความกลัวมาจากอดีต (หรืออนาคต) เท่านั้น ไม่เคยอยู่ในปัจจุบันขณะก็คือ ในเมื่อทั้งอดีตและอนาคต อันมารดาของความกลัว เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เพราะอดีตเป็นแค่ความทรงจำ และอนาคตก็เป็นแค่การคาดเดาหรือจินตนาการในความคิดเราเท่านั้น ความกลัวจึงไม่มีอยู่จริง! เป็นแค่สิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดเราเท่านั้น เพราะถ้าความกลัวมีอยู่จริง ความกลัวจะต้องอยู่ในปัจจุบันขณะด้วย เพราะปัจจุบันขณะเท่านั้นที่เป็นของจริง เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราจึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องเป็นทาสความกลัว เอาชีวิตเราไปกังวลหรือจมปลักอยู่กับความกลัว เพราะเรารู้แล้วว่าเขาไม่มีอยู่จริง แต่เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปพลักไสไล่ส่งเขา เพราะความกลัวก็มีหน้าที่ของเขาที่ทำให้เราปลอดภัย แต่อย่าให้เขามาเป็นนายเราเท่านั้นเอง