ซึมเศร้า รักษาได้

ซึมเศร้า ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็น “อาการ” หรือ “โรค” คนที่เป็นจะรู้ดีว่า มันคือสภาวะที่ไม่อยากทำอะไร เบื่อ ไร้ความรู้สึก หรือรู้สึกลบกับทุกสิ่งทุกอย่างรอบๆ ตัว จนบางคนถึงกับถามว่า ความสุขคืออะไร? ไปจนกระทั่งจะมีชีวิตอยู่ไปเพื่ออะไร ในเมื่อวันๆ รู้สึกได้แต่ความเบื่อหน่ายหรือความทุกข์ แต่ความรู้สึกอย่างนี้ ความจริงแล้วเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยความรุนแรงของอาการซึมเศร้านั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ แต่ขึ้นอยู่กับความเข้าใจและความสามารถในการจัดการกับสภาวะจิตใจของคนๆ นั้น แต่การรู้ถึงที่มาของปัญหาก็จะช่วยให้บรรเทาหรือบำบัดอาการซึมเศร้านั้นได้อย่างมีทิศทาง

สาเหตุระดับต้นมักจะเป็นเรื่องการใช้ชีวิตทั่วๆ ไป เช่น ประสบกับปัญหาทางการเงิน ความขัดแย้งในครอบครัว ปัญหากับที่ทำงานหรือโรงเรียน ความรู้สึกเข้ากับสังคมไม่ได้ (ไม่ fit-in) และเรื่องอื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นปัจจัยภายนอกเข้ามาทำให้สภาพจิตใจเปลี่ยนไปในทางลบ ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่า ทางแก้ก็คือแก้ที่ปัญหานั้นๆ ที่คนๆ นั้นกำลังประสบพบเจอ เช่น มีปัญหาทางการเงินก็หาวิธีหาเงินให้มากขึ้น หรือมีปัญหากับครอบครัวหรือที่โรงเรียนหรือที่ทำงานก็แก้ที่ตรงนั้น แต่ในความเป็นจริง การแก้ที่ปัจจัยภายนอกมักจะไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ และถ้าเรายิ่งพยายามไปบังคับควบคุม ก็อาจจะยิ่งทำให้เป็นปัญหามากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกนึกคิดของคนอื่น ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และความเชื่อทางสังคมอื่นๆ ฉะนั้นทางแก้ที่เป็นไปได้มากที่สุด และสามารถทำได้ทันที โดยที่ไม่ต้องรอหรือบังคับให้ใครเปลี่ยนก็คือการเปลี่ยนที่ตัวเราเอง อย่างน้อยก็ในระดับความคิด (mind) ที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เหมาะสมต่อสถานการณ์

ตัวอย่างเช่น หากมีปัญหาทางการเงิน ก็มาพิจารณาดูว่าเพราะอะไรเงินถึงขาดมือ เราใช้จ่ายอะไรที่ไม่จำเป็นหรือไม่ หรือรายได้น้อยลงเพราะอะไร ซึ่งหลายคนคงหนีไปพ้นการโทษ “เศรษฐกิจ” บ้าง “โควิด” บ้าง ซึ่งแม้จะมีส่วนจริง แต่การโทษปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้ จะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน หากมองด้วยใจเป็นกลาง จะเห็นว่าในทุกสถานการณ์เศรษฐกิจ ก็ยังมีคนที่อยู่รอดได้ ไปต่อได้ ด้วยการรู้จักปรับเปลี่ยนและไม่จมปลักกับการโทษคนอื่นแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าเราไม่มัวแต่โทษปัจจัยภายนอก และหันมาพิจารณาที่ตัวเราแทน ทางออกจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ทันที

หรือหากมีปัญหากับคนรอบข้าง ถ้าเรามัวแต่ไปหวังว่าคนอื่นหรือสังคมจะเปลี่ยน ก็คงเป็นไปได้ยากที่อะไรๆ จะดีขึ้นอย่างที่เราอยากให้เป็น ฉะนั้นนอกจากการโทษคนอื่นจะไม่นำไปสู่การแก้ปัญหาแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเราไม่ควรจะโทษตัวเองด้วย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดใครทั้งนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมันเป็นของมันอย่างนั้นเอง แต่ที่เราหรือใครรู้สึกไม่ถูกใจหรือไม่สบายใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็เพราะเราเอาอัตตาเข้าไปตัดสินว่าควรจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอไม่ได้เป็นอย่างที่เราชอบก็จะกลายเป็นความไม่ชอบ ทั้งๆ ที่สิ่งใดๆ ที่เกิดขึ้นก็แล้วแต่ เขาก็แค่เป็นของเขาอย่างนั้น ไม่ได้มีความดีหรือไม่ดี ชอบหรือไม่ชอบติดมาด้วย แต่อัตตาต่างหากที่เป็นคนเอาป้ายไปแปะ ไปตีตราว่านั่นคือดีนั่นคือเลว นั่นคือชอบนั่นคือไม่ชอบ ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง ไม่ใช่แค่ยอมรับ แต่ยินดีไปกับความแตกต่างหลากหลายที่ทำให้จักรวาลดำรงอยู่ได้อย่างสวยงาม สิ่งที่เคยมองว่าเป็นปัญหาก็จะกลายเป็นความงดงามได้

สาเหตุระดับที่ 2 ที่ลึกลงมาคือเกิดจากการเปรียบเทียบและความคาดหวังของตัวเราเอง สำหรับบางคน การจัดการกับปัจจัยภายนอกอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่กลับมายากที่ตัวเราเอง อาจเพราะเรารู้สึกว่า ตัวฉันใจฉันต้องจัดการให้ได้ 100% อย่างที่เราต้องการ พอทำไม่ได้อย่างที่คาดหวัง (หรือแม้แต่ทำได้แล้ว แต่ก็ยังรู้สึกไม่พอใจอยู่ดี) หรือได้อย่างคนอื่น ก็เกิดเป็นความเครียด ท้อแท้ หดหู่ และซึมเศร้าในที่สุด เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเรามองข้ามความจริงไปข้อนึง นั้นก็คือ ตัวฉันความจริงแล้วไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของฉัน ความคิดฉันความจริงแล้วก็ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของฉัน ตัวตนที่แท้จริงของฉันคือสิ่งที่สังเกตุเห็นความคิดนั้น ฉะนั้นตัวเราความคิดเรา แท้จริงแล้วก็คือคนอีกคนนึงที่ต้องการความรักความเมตตาจากเรา เพียงแต่เขาอยู่ใกล้เรามากจนเรามองไม่เห็น หากเราเข้าใจความจริงแท้อันนี้ เราก็จะรู้ได้ทันทีว่า มันไม่มีประโยชน์อะไรเลยที่จะคาดหวังจากตัวเองและบังคับตัวเราเองมากเกินไป (hard on yourself) และเราจะเริ่มรู้สึกเมตตาต่อตัวเอง (be kind to yourself) จนรักตัวเองได้ในที่สุด (self love)

ความรู้สึกเบื่อหน่ายไม่มีไฟอยากจะทำอะไร โดยมากก็มีสาเหตุมากจากความคาดหวังในตัวเอง คาดหวังว่าฉันจะต้องทำให้ได้อย่างคนนั้นคนนี้ หรือถึงขั้นนั้นขั้นนี้ พอลงมือทำจริงๆ ไปซักพักแล้วรู้สึกว่า “ไม่ก้าวหน้า” หรือไม่ได้ดีอย่างที่หวังหรือได้ภายในช่วงเวลาที่คาดหวัง ก็เกิดความท้อแท้ ทั้งๆ ที่เราไม่เคยถามตัวเองเลยว่าจริงๆ แล้วเราทำสิ่งนั้นเพื่ออะไรตั้งแต่แรก? ถ้าเพื่อให้เก่งถึงขั้นนั้นขั้นนี้ คำถามที่ตามมันคือ “แล้วไงต่อ?” หรือทำแล้วหัดแล้วแต่ยังไม่ได้อย่างที่หวัง คำถามที่ตามมาคือ “ถ้าไม่ได้แล้วไง? ถ้าได้แล้วไง?” การที่เราอยากทำอะไรมันไม่ใช่เพราะอยากทำงั้นหรอ? การได้เข้าสู่กระบวนการของการได้ทำ ก็ถือว่าได้บรรลุจุดประสงค์ของการได้ทำในสิ่งที่อยากทำแล้วไม่ใช่หรอ? ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ มันไม่สำคัญด้วยซ้ำ เพราะมันเป็นแค่ผลพลอยได้ เป็นของแถม ของการได้ทำในสิ่งที่อยากทำเท่านั้นเอง

ลองนึกถึงเด็กคนนึงที่ชอบเสียงเปียโน จึงเกิดเป็นความอยากเล่นเปียโน แล้วพอเขาได้มีโอกาสกดไปบนคีย์บอร์ด แม้ว่าจะเป็นแค่เปียโนเด็กเล่น เขาก็รู้สึกสนุกตื่นเต้นกับการได้ทำในสิ่งที่เขาอยากทำได้ทันที โดยไม่มามัวตัดสินหรือคาดหวังกับตัวเองว่า ทำไมฉันเล่นไม่ได้เป็นเพลงเหมือนคนอื่น เขาก็แค่มีความสุขกับโมเมนต์นั้นๆ ที่เขาได้ทำให้สิ่งที่อยากทำ พอเขาไม่ตัดสินไม่คาดหวัง เขาก็ไม่รู้สึกถึงแรงกดดัน และมีความสุขกับโมเมนต์นั้นๆ ได้อย่างอิสระ ส่วนพอได้เล่นไปเรื่อยๆ แล้วเขาจะสามารถเล่นเป็นเพลงที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ หรือไม่ก็ไม่ใช่สาระสำคัญด้วยซ้ำ เพราะในที่สุดแล้ว ประสบการณ์ของชีวิตอยู่ที่การเดินทาง ไม่ใช่ที่เป้าหมาย อย่างที่สังคมวัตถุนิยมพยายามกล่อมให้เราเชื่ออย่างนั้น

สาเหตุระดับที่ 3 ที่ลึกลงมาอีกคือความซึมเศร้าที่เกิดจากปมในวัยเด็กที่ไม่ได้รับความใส่ใจแก้ไข ซึ่งต้องนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คนๆ นั้นรู้ตัวถึงปมนั้นๆ เหมือนหาเจอถึงสิ่งที่เป็น “ปัญหา” ที่มีผลมาถึงปัจจุบัน เช่น ในวัยเด็กอาจไม่ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างเหมาะสม หรือถูกกระทำการใดๆ ที่เด็กไม่สมควรจะได้รับในตอนนั้น ซึ่งในสายตาผู้ใหญ่บางคนอาจจะมองเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่สำหรับเด็กคนนั้นในตอนนั้น มันคือเรื่องใหญ่ที่เขาก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าจะส่งผลถึงเขาในอนาคต และด้วยความที่เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นไปแล้วในอดีตที่ไม่มีใครสามารถย้อนเวลากลับไปเปลี่ยนแปลงได้ หลายคนจึงเลือกหาวิธีที่จะ “ลืม” ความเจ็บปวดนั้น ซึ่งเป็นสาเหตุให้บางคนหันไปพึ่งยาเสพติดบ้าง หรือบังคับให้ตัวเองไม่ให้รู้สึกอะไรกับเรื่องราวเหล่านั้น จนนานวันเข้ากลายเป็นคนไร้ความรู้สึก ด้านชาต่อความรู้สึกทั้งของผู้อื่นและตนเอง เป็นการตัดการเชื่อมต่อระหว่างเรากับโลก (disconnect) โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับตัวเราเองเพราะมันเจ็บปวดเกินไป จึงทำให้รู้สึกโดดเดี่ยว และซึมเศร้าในที่สุด

แน่นอน ทางแก้ย่อมไม่ใช่การที่จะไปพยายามลืมหรือลบอดีตนั้นไป แต่ต้องเอาจิตตัวเองกลับไปเผชิญหน้ากับเหตุการณ์นั้น แล้วมองในมุมของผู้สังเกต (ไม่ใช่ผู้ถูกกระทำ) เพื่อทำความเข้าใจในระดับความรู้สึก (หัวใจ – heart) ว่าอะไรคืออะไรเพราะอะไร จนเราสามารถอยู่กับสิ่งนั้น ที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว ได้อย่างสันติและมีเมตตาต่อกัน จึงเป็นที่มาของการบำบัดด้วยการใช้สารเปิดจิตช่วย ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของผู้เชี่ยวชาญ อย่างที่สถาบัน Multidisciplinary Association for Psychedelic Studies (MAPS) ในสหรัฐอเมริกาและ Beckley Foundation ในอังกฤษได้ทดลองศึกษาและได้ผลเป็นที่น่าพอใจในการบำบัดผู้ป่วยซึมเศร้าและ PTSD

สาเหตุของโรคซึมเศร้าระดับที่ 4 เป็นระดับที่จิตแพทย์ส่วนใหญ่บอกว่าไม่สามารถหาสาเหตุได้ แล้วก็สรุปไปที่ความไม่สมดุลทางเคมีในสมอง (chemical imbalance) ที่อาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรมหรือปัจจัยทางกายภายอื่นๆ ของสมอง การบำบัดรักษาจึงมุ่งไปที่การ “ปรับ” สมดุลทางเคมีของสมองด้วยการให้ยาขนานต่างๆ ทานเป็นประจำทุกวันอย่างไม่มีกำหนดสิ้นสุด โดยหวังว่าวันนึงสมดุลทางเคมีของสมองจะกลับมาดีขึ้นได้เอง แต่นั่นคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะยาต้านซึมเศร้าทำงานด้วยการไปกดการทำงานของอมิคดาลา (amygdala) ซึ่งเป็นส่วนการประมวลอารมณ์และความรู้สึกภายในสมอง เมื่อผู้ป่วยถูกยาทำให้เป็นคนไร้ความรู้สึก เขาก็จะไม่ทุกข์รวมทั้งไม่สุขด้วย กลายเป็นคนไร้อารมณ์ ไร้แรงบันดาลใจ ไร้ความใส่ใจต่อทั้งผู้อื่นและตนเอง โดยคนไข้ต้องอยู่ในภาวะพึ่งพายาไปตลอด จนหลายคนไม่กล้าหยุดยาแม้แต่วันเดียวด้วยความกลัวว่าความรู้สึกจะกลับมาแย่อย่างที่เคยเป็น ภาวะพึ่งพายานี้ไม่ต่างอะไรกับการที่ผู้ติดยาเสพติดต้องพึ่งการเสพยานั้นๆ ไปตลอด ต่างกันแค่ผู้ที่จ่ายยานั้นคือผู้ได้รับอนุญาตที่เรียกว่าแพทย์ และยานั้นก็ได้รับการรับรองทางกฎหมาย ประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่เสพติดได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ได้นำไปสู่การรักษาอย่างยั่งยืน แถมยังมีผลข้างเคียงที่ทำให้การหายขาดจากความซึมเศร้าเป็นไปได้ยากขึ้นก็ตาม จึงเป็นเหตุให้หลายคนเข้าใจว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ เพียงเพราะไม่มียาแผนปัจจุบันใดๆ รักษาได้

แต่โชคดีที่ไม่ใช่แพทย์ทุกคนจะคิดอย่างนั้น และมีความพยายามที่จะค้นหาหนทางบำบัดรักษาโรคซึมเศร้าอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของคนไข้ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของโรงพยาบาลที่จ้างเขาทำงานเพียงอย่างเดียว แม้ความเป็นไปได้นั้นจะอยู่นอกกรอบของกฎหมาย แพทย์ ศาสตราจารย์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง John Hopkins, University of California ในสหรัฐอเมริกาและ Imperial College London ในประเทศอังกฤษ ได้รับอนุญาตให้ทำการทดลองวิจัยบำบัดรักษาซึมเศร้าด้วยสารเปิดจิต (psychedelics) กับผู้ป่วยซึมเศร้าระดับต่างๆ ผลปรากฎว่าได้ผลที่เร็วกว่าและยั่งยืนกว่ายาต้านซึมเศร้าทั่วไป ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะสารเปิดจิตไม่ได้รักษาตามอาการด้วยการ “ต้าน” อาการซึมเศร้า แต่เขาทำหน้าที่ของเขาคือการ “เปิด” จิตของคนๆ นั้นออกมาให้เขาได้เข้าไปทำความเข้าใจตัวเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวในวัยเด็ก หรือช่วงเวลาอื่นๆ และเมื่อคนๆ นั้นกลับออกมาด้วยความเข้าใจที่ดีขึ้น เขาก็จะสามารถอยู่กับความรู้สึกและความเป็นตัวเองได้ดีขึ้น

จากการสแกนสมองของผู้ที่อยู่ภายใต้ผลของสารเปิดจิตด้วยเครื่อง fMRI พบว่า ส่วนต่างๆ ของสมองมีการเชื่อมต่อสื่อสารกันมากขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่ไม่เคยเชื่อมต่อกัน ก่อให้เกิดการขยายกิ่งก้านสาขาของเซลล์สมอง (neurogenesis) ให้คนๆ นั้นสามารถคิด “นอกกรอบ” ได้ และการคิดนอกกรอบนี้เองคือสาเหตุที่ทำให้คนๆ นั้นสามารถ “หลุด” ออกจากวงจรความคิดซ้ำๆ ที่ทำให้เขาจมอยู่กับความซึมเศร้า หรือความคิดที่ทำให้เขาต้องย้อนกลับไปพึ่งพาสิ่งหรือพฤติกรรมเดิมๆ จนเกิดเป็นอาการเสพติด และเมื่อคนๆ นั้นค้นพบว่ายังมีพื้นที่ภายในสมอง (และหัวใจ) ของเขาเองอีกมากที่ใช้ได้ เขาก็จะรู้ถึงความสามารถและศักยภาพของตัวเขาเอง ไม่ได้ถูกจำกัดด้วยความคิดหรือความเชื่อเดิมๆ ในวงจรเล็กๆ ในสมองอีกต่อไป เป็นการตระหนักรู้ด้วยตัวเองที่นำไปสู่การบำบัดรักษาอย่างยั่งยืน

เมื่อวิทยาศาสตร์ค้นพบเช่นนั้นแล้ว แล้วทำไมสารเปิดจิตที่มีศักยภายในการบำบัดอาการซึมเศร้าและอาการเสพติดได้อย่างยั่งยืน จึงยังเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมายในหลายประเทศอยู่ล่ะ? ทำไมบริษัทยาไม่นำสารเหล่านี้มารักษาผู้ป่วย? สาเหตุเป็นเพราะสารเปิดจิตส่วนใหญ่เป็นสารที่มีอยู่ในธรรมชาติไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ หรือไม่ก็หมดอายุสิทธิบัตรที่เคยจดไว้นานแล้ว (อยู่ใน public domain) ฉะนั้นบริษัทยาจึงไม่สามารถกำหนดราคาได้ตามใจชอบอย่างยาที่เขาถือสิทธิบัตรผูกขาดความเป็นเจ้าของอยู่ และการบำบัดด้วยการให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเพียงหนึ่งหรือสองครั้งแล้วหายขาด หรือดีขึ้นเป็นเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี แทนที่จะต้องมาซื้อยาไปทานทุกวันไปตลอดชีวิตอย่างเป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่รูปแบบทางธุรกิจที่ดีต่อบริษัทยาและผู้ถือหุ้นที่ส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ที่มีอิทธิพลทางการเมือง

จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยบางคนที่เบื่อหน่ายกับการรักษาที่ทำให้เขาต้องตกอยู่ในภาวะพึ่งพายามาเป็นเวลาแรมปีโดยมองไม่เห็นแสงที่ปลายอุโมงค์ แถมยังต้องกลายเป็นคนไร้ความรู้สึกด้วยผลของยา ค้นหาการรักษาทางเลือกที่อาจจะช่วยเขาได้มากกว่า ด้วยการเดินทางไปยังประเทศที่สารเปิดจิตเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย เช่น เม็กซิโก เอกวาดอร์ เปรู บราซิล เป็นต้น โดยบางคน (ไม่ใช่ทุกคน) ได้รับการบำบัดรักษาอย่างยั่งยืน และได้ปัญญาญาณ (wisdom) จากการเดินทางภายในตัวเขาเองมาใช้ดำเนินชีวิตเป็นของแถม

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะต้องเดินทางไปไกลขนาดนั้นเพื่อรับการรักษา เพราะสารเปิดจิตหลายชนิดอยู่รอบตัวเราอยู่แล้วมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ไม่ว่าจะเป็นเห็ดหรือกระบองเพชรบางชนิด อยู่ที่เราต้องรู้จักใช้อย่างเหมาะสม บางคนอาจจะมองว่า แม้การรักษาด้วยสารเปิดจิตจะมีประสิทธิผลจริง แต่วิธีการบำบัดที่จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญดูแลอยู่ตลอดเวลา 6-8 ชั่วโมงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะในประเทศที่ค่าแรงผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์หรือพยาบาลแพงมาก แต่หากการบำบัดด้วยสารเปิดจิตได้รับการยอมรับทางกฎหมาย ก็จะสามารถจัดหลักสูตรอบรมสร้างผู้ดูแลที่มีความรู้ความเข้าใจในการบำบัดด้วยสารเปิดจิตโดยเฉพาะ โดยการอบรมเพื่อให้เนื้อหาความรู้อาจจะใช้เวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ และหลังจากนั้นผู้ฝึกอบรมก็เข้าไปเรียนรู้ฝึกงานจากประสบการณ์จริง ด้วยการเป็นผู้ช่วยผู้ดูแลซักระยะจนสามารถเป็นผู้ดูแลหลักได้ในที่สุด

นับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ปัจจุบันนี้ หลายประเทศเริ่มเปิดให้มีการใช้สารเปิดจิตได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น โดยเฉพาะแคนนาดาและในหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา โดยหวังว่าประเทศไทยจะได้ศึกษาและพิจารณาปรับใช้เพื่อประโยชน์ของคนไทยและเพื่อนร่วมโลกชาวต่างชาติ ด้วยความพร้อมด้านการให้บริการของไทยที่ทั่วโลกให้การยอมรับและชื่นชมอยู่แล้ว